วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

การฝึกหัดนาฏศิลป์ไทย

ธรรมจักร พรหมพ้วย


(ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
นาฏยศิลป์ไทยเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น ท่ารำ จังหวะ การใช้พื้นที่ การใช้อารมณ์ เป็นต้น ผู้เรียนรู้และฝึกหัดจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและพยายามปฏิบัติตามแบบหรือขนบที่ยึดถือเป็บแบบแผนสืบกันมา นอกจากนี้ยังต้องขวนขวายในการหาเทคนิคหรือวิธีการที่จะให้ท่ารำนั้นออกมาสวยงามได้สัดส่วนตามองค์ประกอบทางศิลปะและเหมาะกับรูปร่างของตน โดยนักรำที่ดีจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม ไม่ย่อท้อ และรู้จักสังเกตจากครูที่ทำการถ่ายทอดให้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังที่คุณครูเฉลย ศุขะวณิช ได้กล่าวไว้ว่า “เราจะต้องสังเกตเวลาครูจับท่าให้ว่าท่านั้น ท่านี้อยู่ในระดับใด เราจะต้องจำ และถ้ามีเวลาว่างก็นำมาฝึกหัด และนอกจากนี้จะดูจากจุดบกพร่องของเพื่อนแต่ละคน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อให้ท่ารำสวยงามยิ่งขึ้น” (ผุสดี หลิมสกุล, 2537) ดังนั้นการเรียนรำให้เกิดสัมฤทธิผลเพื่อการเป็นนาฏยศิลปินที่ดีนั้นสามารถฝักหัดกันได้ เพราะคงไม่มีสิ่งใดที่เกินความสามารถของมนุษย์เป็นแน่แท้

การฝึกหัดนั้นควรเริ่มจากการเตรียมพร้อมร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง การมีสัดส่วนสรีระที่ลงตัวย่อมน่าดูกว่าสรีระที่ไม่เหมาะสมกับการเรียนรำหรือเต้น ดังเช่นนักบัลเล่ต์เมื่อจะเริ่มเรียนนั้น จะมีแพทย์ทำหน้าที่คัดเลือกนักเรียนที่มีสรีระสวยงามสมบูรณ์ตามแบบอย่าง เช่น มีความสูงโปร่ง ไหล่ลู่ กระดูกสันหลังตรง เป็นต้น การคัดเลือกเช่นนี้จะเริ่มกระทำเมื่อหัดเรียน หากผู้ใดมีสรีระที่ไม่สามารถที่จะเรียนได้แล้วจะถูกตัดสิทธิ์ในการเรียน เช่นเดียวกันกับนาฏยศิลป์ ไทย เมื่อจะเริ่มเรียนนั้น จำเป็นที่เราจะต้องรู้ว่าสรีระของเรานั้นเหมาะสมที่จะเรียนในบทบาทใด เช่น พระ นาง ยักษ์ หรือลิง โดยมากแล้วครูจะเป็นผู้กำหนดให้นักเรียน โดยครูจะตรวจดูลักษณะใบหน้า ความสูง รูปร่าง หากผู้ที่มีความสูงโปร่ง ใบหน้ายาว เมื่อแต่งหน้าแล้วมีความงามพอใช้ก็จะถูกให้ฝึกฝนในบทตัวพระ ส่วนตัวนางก็จะเลือกผู้ที่มีใบหน้ากลม ใบหน้าสวยงามเหมาะกับที่จะใส่มงกุฎ รัดเกล้า หรือกระบังหน้า ผู้ที่มีหน้าตาดีมักได้รับการเอาใจใส่จากครูเป็นพิเศษ เพราะครูมุ่งหวังที่จะให้หัดเพื่อเป็นตัวเอก แต่หากว่าการมีหน้าตาที่งดงามโดยปราศจากความขยันฝึกซ้อมและเอาใจใส่ในกระบวนท่ารำให้สวยงาม บุคคลเหล่านั้นก็ไม่อาจจะเป็นตัวเอกที่สมบูรณ์ได้เลย
เมื่อครูพิจารณาสรีระตามแต่บุคคลแล้ว ก็จะแยกตามบทบาทเป็นหมวดเพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกาย เพื่อให้ได้สัดส่วนการรำที่งดงาม โดยบังคับกล้ามเนื้อหรือกระดูกบางส่วนให้ผิดรูปไป รวมทั้งเป็นการบริหารเพื่อให้การเคลื่อนไหวเมื่อรำเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีพลัง เริ่มจาก

1. ดัดมือ
2. ดัดแขน
3. ถองสะเอว
4. เต้นเสา
5. ย่ำเชิดฉิ่ง
6. ถีบเหลี่ยม

2 ความคิดเห็น: