วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รำไทย บ้านนาฏศิลป์ไทยหน้าเซ็นทรัลพระราม 2

ศิลปวัฒนธรรมไทย แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์มาช้านาน เป็นประเทศที่มีความเป็นอิสระทางความคิด บุคคลในประเทศมีความสงบสุข รัก สามัคคี จึงเกิดมีศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นระเบียบแบบแผน มีความเป็นมา มีคุณค่า วิธีการที่มีความสำคัญ ทุกคนแม้แต่ชาวต่างชาติเห็นแล้วรู้ทันทีว่า นี่คือ “ประเทศไทย”   




วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

วิธีเรียนนาฏศิลป์ไทย (รำไทย)

เริ่มจากง่ายไปยาก

- การฝึกอวัยวะทุกส่วนให้ครบกระบวนการลีลาท่ารำทีละอย่าง เช่น ใช้มือจีบ
ตั้งวง ทรงตัว กดไหล่ ยกเท้า ก้าวเท้า ให้ถูกสัดส่วนซึ่งเป็นลีลาเบื้องต้น
- เลือกเรียนท่ารำง่ายๆ เสียก่อน เช่น
รำสีนวลรำวงแม่บท ฯลฯ

ดูความสามารถของตนเอง

- ตามวัย
- ตามความสามารถของสมอง

สับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงท่าที่ยากให้ง่าย (พยายามรักษาแบบเดิมไว้)
ต้องดูท่าทางอย่างละเอียด และถือหลักทีละน้อยให้แม่นยำแล้วจึงต่อท่า
หัดร้องเพลงประกอบท่ารำด้วย เพื่อปลูกฝังนิสัยการร้องเพลง เพื่อประโยชน์ในการ
ฝึกซ้อมด้วยตนเอง
เปรียบเทียบท่ารำที่คล้ายคลึงกัน หรือตรงข้ามกัน เพื่อไม่ให้จำสับสน เช่น ม้วนมือ
คลายมือ สลัดมือ ฯลฯ
ควรแยกรำทีละอย่าง เช่น หัดมือได้แล้วจึงทำเท้า แล้วค่อยทำพร้อมกัน


ข้อระวังในการรำ


ท่ารำที่มักปฏิบัติสับสนกัน เช่น ม้วนจีบ – คลายจีบ ผู้รำแรกๆ มักปล่อยจีบเอาเฉยๆ ไม่ม้วนจีบลง
จีบไม่ถูกลักษณะ เช่น จีบขยุ้ม ไม่กรีดนิ้ว นิ้วชี้งอ นิ้วชี้ไม่ติดกับนิ้วใหญ่ จีบแล้วไม่หักข้อเข้าหาลำแขน
วงบัวบาน หงายไม่เต็มที่ วิธีแก้คือ ให้หงายฝ่ามือแบนๆ
เรื่องตั้งวง
ปล่อยวงพุ่งมาข้างหน้า
แขนเหยียดตึง
ยกศอกมากเกินไปจนวงคว่ำ
ไม่งอนิ้วหัวแม่มือเข้าฝ่ามือ
ไม่รวมนิ้วชี้ทั้งสี่ให้ติดกัน
เวลาลดวงลงข้างล่างหนีบรักแร้มาก
วงที่หงายข้างสะโพกตะแคงฝ่ามือ ไม่หงายให้สุดข้อมือ
ยกเท้าไม่ชิดหัวแม่เท้า และพระไม่กันเหลี่ยมออก วิธีแก้เหลี่ยมใช้ศัพท์ หันน่องออก ก็ได้
ก้าวเท้าแล้วไม่ลงน้ำหนักเท้าที่ก้าวให้หมด ยังฝืนน้ำหนักอยู่เท้าหลัง
ส่วนมากก้าวข้างไม่เป็น มักปนกับการก้าวหน้า
ก้าวเท้าแล้วไม่บานปลายเท้าออก
ประเท้าไม่ระวังปักส้น กลายเป็นกระทืบเท้า
เอียงแต่ศีรษะไม่เอียงไหล่
ผู้รำหอบไหล่
การทรงตัว
ปล่อยพุงแอ่น
งอพุงจนหลังโกง
โน้มตัวไปข้างหน้ามากไป
การกระทุ้งเท้าหรือวางเท้าข้างหลัง ไม่วางด้วยจมูกเท้า มักใช้ปลายนิ้วหัวแม่เท้า

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

การฝึกหัดนาฏศิลป์ไทย

ธรรมจักร พรหมพ้วย


(ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏยศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
นาฏยศิลป์ไทยเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น ท่ารำ จังหวะ การใช้พื้นที่ การใช้อารมณ์ เป็นต้น ผู้เรียนรู้และฝึกหัดจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและพยายามปฏิบัติตามแบบหรือขนบที่ยึดถือเป็บแบบแผนสืบกันมา นอกจากนี้ยังต้องขวนขวายในการหาเทคนิคหรือวิธีการที่จะให้ท่ารำนั้นออกมาสวยงามได้สัดส่วนตามองค์ประกอบทางศิลปะและเหมาะกับรูปร่างของตน โดยนักรำที่ดีจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม ไม่ย่อท้อ และรู้จักสังเกตจากครูที่ทำการถ่ายทอดให้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังที่คุณครูเฉลย ศุขะวณิช ได้กล่าวไว้ว่า “เราจะต้องสังเกตเวลาครูจับท่าให้ว่าท่านั้น ท่านี้อยู่ในระดับใด เราจะต้องจำ และถ้ามีเวลาว่างก็นำมาฝึกหัด และนอกจากนี้จะดูจากจุดบกพร่องของเพื่อนแต่ละคน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อให้ท่ารำสวยงามยิ่งขึ้น” (ผุสดี หลิมสกุล, 2537) ดังนั้นการเรียนรำให้เกิดสัมฤทธิผลเพื่อการเป็นนาฏยศิลปินที่ดีนั้นสามารถฝักหัดกันได้ เพราะคงไม่มีสิ่งใดที่เกินความสามารถของมนุษย์เป็นแน่แท้

การฝึกหัดนั้นควรเริ่มจากการเตรียมพร้อมร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง การมีสัดส่วนสรีระที่ลงตัวย่อมน่าดูกว่าสรีระที่ไม่เหมาะสมกับการเรียนรำหรือเต้น ดังเช่นนักบัลเล่ต์เมื่อจะเริ่มเรียนนั้น จะมีแพทย์ทำหน้าที่คัดเลือกนักเรียนที่มีสรีระสวยงามสมบูรณ์ตามแบบอย่าง เช่น มีความสูงโปร่ง ไหล่ลู่ กระดูกสันหลังตรง เป็นต้น การคัดเลือกเช่นนี้จะเริ่มกระทำเมื่อหัดเรียน หากผู้ใดมีสรีระที่ไม่สามารถที่จะเรียนได้แล้วจะถูกตัดสิทธิ์ในการเรียน เช่นเดียวกันกับนาฏยศิลป์ ไทย เมื่อจะเริ่มเรียนนั้น จำเป็นที่เราจะต้องรู้ว่าสรีระของเรานั้นเหมาะสมที่จะเรียนในบทบาทใด เช่น พระ นาง ยักษ์ หรือลิง โดยมากแล้วครูจะเป็นผู้กำหนดให้นักเรียน โดยครูจะตรวจดูลักษณะใบหน้า ความสูง รูปร่าง หากผู้ที่มีความสูงโปร่ง ใบหน้ายาว เมื่อแต่งหน้าแล้วมีความงามพอใช้ก็จะถูกให้ฝึกฝนในบทตัวพระ ส่วนตัวนางก็จะเลือกผู้ที่มีใบหน้ากลม ใบหน้าสวยงามเหมาะกับที่จะใส่มงกุฎ รัดเกล้า หรือกระบังหน้า ผู้ที่มีหน้าตาดีมักได้รับการเอาใจใส่จากครูเป็นพิเศษ เพราะครูมุ่งหวังที่จะให้หัดเพื่อเป็นตัวเอก แต่หากว่าการมีหน้าตาที่งดงามโดยปราศจากความขยันฝึกซ้อมและเอาใจใส่ในกระบวนท่ารำให้สวยงาม บุคคลเหล่านั้นก็ไม่อาจจะเป็นตัวเอกที่สมบูรณ์ได้เลย
เมื่อครูพิจารณาสรีระตามแต่บุคคลแล้ว ก็จะแยกตามบทบาทเป็นหมวดเพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกาย เพื่อให้ได้สัดส่วนการรำที่งดงาม โดยบังคับกล้ามเนื้อหรือกระดูกบางส่วนให้ผิดรูปไป รวมทั้งเป็นการบริหารเพื่อให้การเคลื่อนไหวเมื่อรำเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีพลัง เริ่มจาก

1. ดัดมือ
2. ดัดแขน
3. ถองสะเอว
4. เต้นเสา
5. ย่ำเชิดฉิ่ง
6. ถีบเหลี่ยม

ศิลปะการรำ...

นาฏศิลป์

นาฏศิลป์ หมายถึงศิลปะการแสดงประกอบดนตรีเช่น ฟ้อน รำ ระบำ โขน แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกและมีลีลาท่าการแสดงที่แตกต่างกันไป สาเหตุหลักมาจากภูมิอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ความเชื่อ ศาสนา ภาษา นิสัยใจคอของผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ แต่ละภาคมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


ภาคเหนือ

ภาคนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่าหยาบนุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ
นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายลาย)ฟ้อนเทียน ฟ้อนจ้อง ฟ้อนวี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนน้อยไจยา ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เป็นต้น นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น
ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือนอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนกำเบ้อ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก (กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำซอ ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา) ฟ้อนไต ฟ้อนไตอ่างขาง ฟ้อนนกยูง เป็นต้น


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคนี้โดยทั่วไปมักเรียกว่าภาคอีสาน ภาคอีสาน ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุกและขยัน อดทน คนอีสานมักไปขายแรงงานในท้องที่ภาคกลางหรือภาคใต้
เพลงพื้นเมืองอีสานจึงมักบรรยายความทุกข์ ความยากจน ความเหงา ที่ต้องจากบ้านมาไกล ดนตรีพื้นเมืองแต่ละชิ้นเอื้อต่อการเล่นเดี่ยว การจะบรรเลงร่วมกันเป็นวงจึงต้องทำการปรับหรือตั้งเสียงเครื่องดนตรีใหม่เพื่อให้ได้ระดับเสียงที่เข้ากันได้ทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม คนอีสานก็พยายามหาความบันเทิงในทุกโอกาส เพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจหรือสภาพความทุกข์ยากอันเนื่องจากสภาพธรรมชาติ เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน เช่น พิณ แคน โหวด โปงลาง หืน ซอ ปี่ไม้ซาง กลองตุ้ม กลองยาว เป็นต้น ทำนองเพลงพื้นเมืองอีสานมีทั้งทำนองที่เศร้าสร้อยและสนุกสนาน เพลงที่มีจังหวะเร็วนั้นถึงจะสนุกสนานอย่างไรก็ยังคงเจือความทุกข์ยากลำบากในบทเพลงอยู่เสมอ ทำนองเพลงหรือทำนองดนตรีเรียกว่า “ลาย” เช่น ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไส่บินข้ามท่ง ลายลมพัดพร้าว ลายน้ำโตนตาด เป็นต้น
การขับร้องเรียกว่า “ลำ” ผู้ที่มีความชำนาญในการลำเรียกว่า “หมอลำ” ลำมีหลายประเภท เช่น ลำกลอน ลำเพลิน ลำเรื่องต่อกลอน ลำผญา(ผะหยา) ลำเต้ย เป็นต้น ส่วนบทเพลงหรือลายบรรเลงก็มาจากภูมิปัญญาชาวที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีโปงลาง เช่นอาจารย์ทรงศักดิ์ ปทุมสิน ซึ้งเป็นผู้เชี่ยวทางด้านโหวด และอาจารย์ทองคำ ไทยกล้า เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน แคน

 
 
ภาคใต้

ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคลิกบางอย่างคล้ายคลึงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด การแต่งกาย การแสดง เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมาก นาฏศิลป์ของชาวไทยภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือการแสดงพื้นบ้านและระบำพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน สามารถแบ่งออกออกตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
1.พื้นที่ ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ โนรา เพลงบอก เพลงเรือ คำตัก เพลงชาน้อง
2.พื้นที่ ภาคใต้บริเวณลุ่มนำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ โนรา หนังตะลุง กาหลอ โต๊ะครึม(นายลิมนต์) เพลงเรือ
3.พื้นที่ ชายฝั่งทะเลอันดามัน ลิเกป่า รองเง็งชาวเล รองเง็งตันหยง กาบง กาหยง ดาระ
4.พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง รองเง็งปัตตานี ดิเกร์ฮูลู ซีละ มะโย่ง(บือดีกา) บานอ กรือโต๊ะ ตือตรี
ส่วนระบำพื้นบ้าน ได้แก่ ตารีกีปัส ระบำร่อนแร่ ระบำกรีดยาง เป็นต้น

 
ภาคกลาง

ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนามาเรื่อยๆ.....

ตำนานการฟ้อนรำ

ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่า พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมาก ยุคนี้พระอิศวรทรงเป็นนาฎราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในเมืองสวรรค์ และเมืองมนุษย์ โดยมีเรื่องเล่าขานไว้ว่า ฤาษีพวกหนึ่งประพฤติอนาจารฝ่าฝืนเทวบัญชา พระอิศวรทรงขัดเคืองจึงทรงชวนพระนารายณ์เสด็จมายังโลกมนุษย์ เพื่อทรมานฤาษีพวกนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นพระฤาษีสิ้นฤทธิ์ จึงทรงฟ้อนรำทำปาฏิหาริย์ขึ้น ขณะนั้นมียักษ์ค่อมตนหนึ่งชื่อ "มุยะกะละ (บางตำราเรียกว่า มุยะละคะ หรืออสูรมูลาคนี) มาช่วยพวกฤาษี พระอิศวรจึงทรงเอาพระบาทเหยียบยักษ์ค่อมนั้นไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไปจนหมด กระบวนท่าซึ่งร่ายรำในครั้งนี้ทำให้เกิดเทวรูปที่เรียกว่า "ปางนาฏราช" หรือ "ศิวะนาฏราช (Cosmic Dance)" บางทีก็เรียกว่า "ปางปราบอสูรมูลาคนี" เมื่อพระอิศวรทรงทรมานพวกฤาษีจนสิ้นทิฐิ ยอมขอขมาต่อพระเป็นเจ้าทั้งสองแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับเขาไกรลาศ ส่วนพระนารายณ์ก็เสด็จกลับยังเกษียรสมุทร ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๑ ของพระอิศวร
ต่อมาพระยาอนันตนาคราชซึ่งได้ติดตามพระเป็นเจ้าทั้งสองเมื่อครั้งไปปราบพวกฤาษี ได้เห็นพระอิศวรฟ้อนรำเป็นที่งดงาม จึงใคร่อยากชมพระอิศวรฟ้อนรำอีก พระนารายณ์จึงแนะนำให้ไปบำเพ็ญตบะบูชาพระอิศวรที่เชิงเขาไกรลาศ เพื่อให้พระอิศวรทรงเมตตาประทานพรจึงทูลขอพรให้ได้ดูพระอิศวรทรงฟ้อนรำตามประสงค์ ครั้นเมื่อพระยาอนันตนาคราชบำเพ็ญตบะ จนพระอิศวรเสด็จมาประทานพรที่จะฟ้อนรำให้ดู โดยตรัสว่าจะเสด็จไปฟ้อนรำให้ดูในมนุษยโลก ณ ตำบลจิดรัมบรัม หรือ จิทัมพรัม ซึ่งอยูทางตอนใต้ของอินเดีย เพราะเห็นว่าเมืองนี้เป็นศูนย์กลางของมนุษยโลก พระอิศวรแสดงการฟ้อนรำให้ประชาชนชมถึง ๑๐๘ ท่าด้วยกัน ประชาชนจึงสร้างเทวาลัยขึ้นที่เมืองนี้ เพื่อเป็นที่เคารพบูชาแทนองค์พระอิศวร ภายในเทวาลัยนี้แบ่งออกเป็น ๑๐๘ ช่อง เพื่อแกะสลักท่าร่ายรำของพระอิศวรไว้จนครบ ๑๐๘ ท่า การร่ายรำครั้งนี้ถือเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๒ ของพระอิศวร
ในสมัยต่อมาพระอิศวรจะทรงแสดงฟ้อนรำให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมาให้ประทับเป็นประธานเหนือสุวรรณบังลังก์ ให้พระสรัสวดีดีดพิณ ให้พระอินทร์เป่าขลุ่ย ให้พระพรหมตีฉิ่ง ให้พระลักษมีขับร้อง และให้พระนารายณ์ตีโทน แล้วพระอิศวรก็ทรงฟ้อนรำให้เทพยดา ฤาษี คนธรรพ์ ยักษ์ และนาคทั้งหลายที่ขึ้นไปเฝ้าได้ชมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการร่ายรำครั้งที่ ๓ ของพระอิศวร โดยในครั้งนี้พระองค์ทรงให้พระนารทฤาษีเป็นผู้บันทึกท่ารำ แล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์


ตำรารำของไทย
ตำรานาฏยศาสตร์ ที่พวกพราหมณ์นำเข้ามาสอนในประเทศไทยนั้น ไม่มีต้นฉบับเหลืออยู่ให้รู้ได้ เข้าใจว่าคงจะได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ อาจจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แล้วบอกเล่าสั่งสอนกันต่อๆมาเท่าที่รู้ได้ เพราะมีท่ารำของไทยที่ลักษณะ และชื่อท่ารำคล้ายคลึงกับในตำรานาฏยศาสตร์ ที่แปลงชื่อเป็นภาษาไทยก็มีแต่ต้นฉบับก็่สูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นส่วนมาก ที่คงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้มีตำราท่ารำต่างๆเขียนรูประบายสีปิดทอง ๑ เล่ม เหลืออยู่เฉพาะตอนต้นเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ตำราท่ารำเหมือนกับเล่มแรก แต่เขียนฝุ่นเป็นลายเส้น ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ มีภาพรำบริบูรณ์ถึง ๖๖ ท่า ได้มาจากพระราชวังบวร ท่ารำ และการเรียงลำดับท่าเหมือนเล่มแรก เข้าใจว่าจะเป็นสำเนาคัดจากเล่มสมัยรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง
เข้าใจว่าตำราเช่นนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตร) ช่างในกรมศิลปากรกับขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธ์) ช่างเขียนในหอพระสมุดฯ ช่วยกันเขียนภาพใหม่ตามแบบท่ารำในตำราเดิม นำมาพิมพ์ไว้ใน "ตำราฟ้อนรำ" เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ชื่อท่ารำต่างๆในตำราของไทยเรานั้นปะปนกันอยู่ดังนี้

๑. ชื่อท่ารำที่แปลจากตำราอินเดียโดยตรง

๒. ชื่อท่ารำที่คลาดเคลื่อนจากตำราเดิม เพราะบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายต่อ

๓. ชื่อท่ารำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นในภายหลัง


วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา


...¤ ...วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา เป็นสถานศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่เลขที่ 444 ถนนมิตรภาพ ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยให้มีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาวิชาชีพเฉพาะทางด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ในระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้นถึงประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เผยแพร่ ส่งเสริม วิจัย และให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอีกด้วย

...¤ ... กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2535 ในสมัยนายก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรได้แต่งตั้งให้ นางเพ็ญทิพย์ จันทุดม ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ มาปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 โดยให้มีหน้าที่ให้การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทางนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ในระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ ชั้นต้นถึงชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เผยแพร่ ส่งเสริม วิจัย และให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอีกด้วย

...¤ ... ในระหว่างการก่อสร้างวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา ได้รับความอนุเคราะห์จาก ร.ต.สุวิทย์ แก้วเกตุ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา ได้อนุญาตให้ใช้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นสำนักงานชั่วคราว และในเดือนเมษายน 2535 นายประเสริฐ กาญจนวัฒนา กำนันตำบลโคกกรวดได้ให้ความอนุเคราะห์เกรดพื้นที่ดินบริเวณด้านหน้าวิทยาลัยฯ หลังจากนี้จะมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและอื่นๆ ต่อเนื่องมาโดยลำดับ

...¤ ...ปัจจุบันมี นางกัญญา ทองมั่นเป็น ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา มีอาคารเรียน 2 อาคาร อาคารดนตรี หอพักนักเรียน อาคารประกอบการเรียน และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานด้านการเรียนการสอนสามารถผลิตนักศึกษาระดับอนุปริญญา เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีได้ 100% ทั้งสามารถส่งนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพปีที่ 3 เข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้ งานศิลปวัฒนธรรมได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราช เช่น การละเล่นรำโทน จัดการบรรเลงวงดนตรีเครื่องสายเขมร วงมโหรีพื้นบ้านโคราช วงมโหรีปี่พาทย์ และปี่พาทย์มอญ รวมทั้งบรรเลงดนตรีสากล และการแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงและบรรเลงระดับโลก ระดับประเทศและระดับจังหวัดมาโดยตลอด